วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ลักษณะภาษาไทย

ลักษณะภาษาไทย...


1. ความหมายของภาษา

       "ภาษา" เป็นศัพท์ที่มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า กล่าว พูด บอก 
       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายหลักๆของ "ภาษา" ว่า
          1. ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียน เพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษากฎหมาย
          2. เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาท่าทาง ภาษามือ
          

ประเภทของภาษา

  • แบ่งตามลักษณะของภาษา
          1. วัจนภาษา คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร ได้แก่ ภาษาพูด และภาษาเขียน
2. อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร ได้แก่ ภาษามือ ภาษาท่าทาง ภาษาหน้าตา ภาษาสัญลักษณ์
  • แบ่งตามวิธีการรับสาร
          1. จักษุภาษา คือ ภาษาที่อาศัยดวงตาในการรับสาร ได้แก่ ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษาหน้าตา ภาษาสัญลักษณ์
          2. โสตภาษา คือ ภาษาที่เกิดจากการใช้หูฟังเพื่อรับสาร ได้แก่ ภาษาพูด เสียงสัญญาณ
          3. สัมผัสภาษา คือ ภาษาที่เกิดจากการใช้มือสัมผัสเพื่อรับสาร มีชื่ออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ผัสสภาษา เป็นภาษาของผู้พิการทางสายตา ซึ่งปัจจุบัน ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านหนังสือได้ จากการสัมผัสอักษรเบรลล์ 
 

2. องค์ประกอบของภาษา

       1. เสียง เกิดจากการเปล่งเสียงแทนพยางค์และคำ
       2. พยางค์และคำ เกิดจากการประสมพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์
       3. ประโยค คือ การนำคำมาเรียงกันตามลักษณะ โครงสร้างของภาษา หรือเป็นระบบไวยากรณ์ของแต่ละภาษา
       4. ความหมาย คือ ความหมายที่เกิดจากคำและประโยค เพื่อใช้ในการสื่อสารทำความเข้าใจกัน

ความหมาย 2 ชนิด

       1. ความหมายของคำ แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ความหมายนัยตรง และความหมายนัยประหวัด 
2. ความหมายของประโยค เกิดจากการนำคำมาเรียงกันตามหลักไวยากรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ภาคประธานและภาคแสดง

3. ประวัติความเป็นมา และลักษณะสำคัญของภาษาไทย 

  • ประวัติความเป็นมาของภาษาไทย

       ภาษาไทยนั้นมีวิวัฒนาการเริ่มตั้งแต่รวมกันเป็นชนชาติ ปรากฏหลักฐานในภาษาพูดที่อยู่ในตระกูลภาษาไต หรือไท ทางแถบตอนใต้ของจีน แคว้นอัสสัมของอินเดีย ตอนเหนือของเมียนมาร์ ประเทศไทย และประเทศลาว และปรากฏหลักฐานชัดเจนขึ้น เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงคิดค้นประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นมาใช้ใน พ.ศ.1826 ซึ่งพัฒนามาจากอักษรขอมหวัด และมอญโบราณ
  • ลักษณะสำคัญของภาษาไทย
       1. ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คือ แต่ละคำมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง ใช้ได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปศัพท์ เพื่อบอกเพศ พจน์ การกระทำ และกาลเวลา 
          เช่น พ่อ แม่ สะใภ้ ฝูง เหล่า พรุ่งนี้

       2. คำไทยแท้ส่วนมากมีพยางค์เดียว และมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง 
          เช่น โอ่ง หมา ดิน น้ำ นั่ง นอน กิน สั้น ไม้ ใจ หัว


       3. คำไทยแท้มีตัวสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด
          เช่น ชก กัด ตบ ถอง ชน ทุ่ม ต่อย เหนี่ยว
        
         ข้อสังเกต คำที่มีมาตราตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราส่วนใหญ่ มักจะเป็นคำที่มาจากภาษาอื่น 
          เช่น อัจฉรา สัจจะ อิสระ         มาจากภาษาบาลี
                 อัปสร สัตย์ อิศวร            มาจากภาษาสันสกฤต
                 เพ็ญ เผอิญ เดียรดาศ     มาจากภาษาเขมร


       4. ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ ทำให้คำเกิดระดับเสียงต่างกัน และมีความหมายต่างกันด้วย
          เช่น  เสือ เสื่อ เสื้อ         ขา ข่า ข้า        ปา ป่า ป้า


       5. มีการสร้างคำ เพื่อเพิ่มความหมายให้มากขึ้น 
          เช่น การประสมคำ การซ้อนคำ การซ้ำคำ การสมาส การสนธิ การบัญญัติศัพท์ การทับศัพท์ การแผลงคำ
                 คำประสม    - ลูกน้ำ  ไฟฟ้า  ส้มตำ  เครื่องคาว
                 คำซ้อน       - ก่อสร้าง  ชั่วดี  มากมาย  มากน้อย
                 คำสมาส     - ราชการ  วีรชน  อักษรศาสตร์  กรรมการ
                 คำทับศัพท์ - เซรุ่ม  กาแฟ  ลิฟต์  ช็อคโกแลต


       6. การเรียงคำในประโยค ถ้าเรียงคำในตำแหน่งต่างๆสลับกัน จะทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไป
          เช่น  กัน ขัน มัน      ขัน กัน มัน     มัน กัน ขัน     มัน ขัน กัน
7. คำขยายในภาษาไทยจะเรียงอยู่หลังคำที่ถูกขยายเสมอ
           ยกเว้น คำที่แสดงจำนวน หรือปริมาณ อาจอยู่ด้านหน้าหรือหลังก็ได้
          เช่น หมูดำสามตัวอยู่ในเล้าสีขาว     มีคำขยายอยู่หลัง
                  ในเล้าสีขาวมีหมูสองตัว            มีคำขยายอยู่หน้า
8. คำไทยมีลักษณนาม
           ลักษณนาม คือ นามที่บอกลักษณะของนามข้างหน้า โดยมีหลักการใช้ ดังนี้
           1. ใช้ตามหลังคำวิเศษณ์บอกจำนวนนับที่เป็นตัวเลข
               เช่น นักเรียน 10 คน สุนัข 2 ตัว
               ยกเว้นคำว่า "เดียว" ที่ใช้เป็นจำนวนนับ จะอยู่หลังลักษณนาม เช่น สุนัขตัวเดียว ข้าวจานเดียว
          2. ใช้ตามหลังคำนามเพื่อบอกลักษณะของคำนามที่อยู่ข้างหน้า โดยเน้นลักษณะของนามนั้น 
              เช่น นกฝูงนั้นมาจากไซบีเรีย  หนังสือเล่มนั้นใครเขียน


       9. ภาษาไทยมีวรรคตอนในการเขียน และมีจังหวะในการพูด หากแบ่งวรรคตอนผิด หรือพูดเว้นจังหวะผิด ความหมายก็จะเปลี่ยนแปลงไป
           เช่น เขาทำบุญให้คน จนหมดตัว
                  เขาทำบุญ ให้คนจนหมดตัว
 10. ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีการใช้คำให้เหมาะสมกับฐานะของบุคคล และโอกาส ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางภาษาอันละเอียดละออประการหนึ่ง มีระดับการใช้ดังนี้
            1. ระดับพิธีการ - ใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ ใช้ภาษาทางการที่คัดสรรและเรียบเรียงอย่างประณีต
                เช่น การกล่าวสดุดี การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญา
   
2. ระดับทางการ - ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการโดยทั่วไป ใช้ภาษาทางการ 
               เช่น การแถลงข่าว หนังสือราชการ

 3. ระดับกึ่งทางการ - ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ แต่ลดระดับลงโดยใช้ภาษาสุภาพ ที่เป็นกันเองมากขึ้น
                เช่น การบรรยายในชั้นเรียน 

4. ระดับสนทนา - ใช้ในโอกาสไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยทั่วไป สามารถใช้ภาษาพูดได้
               เช่น การคุยกันในครอบครัว 

5. ระดับกันเอง - ใช้ในโอกาสไม่เป็นทางการกับเพื่อนสนิท สามารถใช้ภาษาพูด และภาษาคะนอง
               เช่น เพื่อนสนิทคุยกัน 


แหล่งที่มา : จงชัย  เจนหัตถการกิจ.  หลักภาษาไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 10.  กรุงเทพฯ: ธนาเพรส, 2551.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น