วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ลักษณะภาษาไทย

ลักษณะภาษาไทย...


1. ความหมายของภาษา

       "ภาษา" เป็นศัพท์ที่มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า กล่าว พูด บอก 
       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายหลักๆของ "ภาษา" ว่า
          1. ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียน เพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษากฎหมาย
          2. เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาท่าทาง ภาษามือ
          

ประเภทของภาษา

  • แบ่งตามลักษณะของภาษา
          1. วัจนภาษา คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร ได้แก่ ภาษาพูด และภาษาเขียน
2. อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร ได้แก่ ภาษามือ ภาษาท่าทาง ภาษาหน้าตา ภาษาสัญลักษณ์
  • แบ่งตามวิธีการรับสาร
          1. จักษุภาษา คือ ภาษาที่อาศัยดวงตาในการรับสาร ได้แก่ ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษาหน้าตา ภาษาสัญลักษณ์
          2. โสตภาษา คือ ภาษาที่เกิดจากการใช้หูฟังเพื่อรับสาร ได้แก่ ภาษาพูด เสียงสัญญาณ
          3. สัมผัสภาษา คือ ภาษาที่เกิดจากการใช้มือสัมผัสเพื่อรับสาร มีชื่ออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ผัสสภาษา เป็นภาษาของผู้พิการทางสายตา ซึ่งปัจจุบัน ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านหนังสือได้ จากการสัมผัสอักษรเบรลล์ 
 

2. องค์ประกอบของภาษา

       1. เสียง เกิดจากการเปล่งเสียงแทนพยางค์และคำ
       2. พยางค์และคำ เกิดจากการประสมพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์
       3. ประโยค คือ การนำคำมาเรียงกันตามลักษณะ โครงสร้างของภาษา หรือเป็นระบบไวยากรณ์ของแต่ละภาษา
       4. ความหมาย คือ ความหมายที่เกิดจากคำและประโยค เพื่อใช้ในการสื่อสารทำความเข้าใจกัน

ความหมาย 2 ชนิด

       1. ความหมายของคำ แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ความหมายนัยตรง และความหมายนัยประหวัด 
2. ความหมายของประโยค เกิดจากการนำคำมาเรียงกันตามหลักไวยากรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ภาคประธานและภาคแสดง

3. ประวัติความเป็นมา และลักษณะสำคัญของภาษาไทย 

  • ประวัติความเป็นมาของภาษาไทย

       ภาษาไทยนั้นมีวิวัฒนาการเริ่มตั้งแต่รวมกันเป็นชนชาติ ปรากฏหลักฐานในภาษาพูดที่อยู่ในตระกูลภาษาไต หรือไท ทางแถบตอนใต้ของจีน แคว้นอัสสัมของอินเดีย ตอนเหนือของเมียนมาร์ ประเทศไทย และประเทศลาว และปรากฏหลักฐานชัดเจนขึ้น เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงคิดค้นประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นมาใช้ใน พ.ศ.1826 ซึ่งพัฒนามาจากอักษรขอมหวัด และมอญโบราณ
  • ลักษณะสำคัญของภาษาไทย
       1. ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คือ แต่ละคำมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง ใช้ได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปศัพท์ เพื่อบอกเพศ พจน์ การกระทำ และกาลเวลา 
          เช่น พ่อ แม่ สะใภ้ ฝูง เหล่า พรุ่งนี้

       2. คำไทยแท้ส่วนมากมีพยางค์เดียว และมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง 
          เช่น โอ่ง หมา ดิน น้ำ นั่ง นอน กิน สั้น ไม้ ใจ หัว


       3. คำไทยแท้มีตัวสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด
          เช่น ชก กัด ตบ ถอง ชน ทุ่ม ต่อย เหนี่ยว
        
         ข้อสังเกต คำที่มีมาตราตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราส่วนใหญ่ มักจะเป็นคำที่มาจากภาษาอื่น 
          เช่น อัจฉรา สัจจะ อิสระ         มาจากภาษาบาลี
                 อัปสร สัตย์ อิศวร            มาจากภาษาสันสกฤต
                 เพ็ญ เผอิญ เดียรดาศ     มาจากภาษาเขมร


       4. ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ ทำให้คำเกิดระดับเสียงต่างกัน และมีความหมายต่างกันด้วย
          เช่น  เสือ เสื่อ เสื้อ         ขา ข่า ข้า        ปา ป่า ป้า


       5. มีการสร้างคำ เพื่อเพิ่มความหมายให้มากขึ้น 
          เช่น การประสมคำ การซ้อนคำ การซ้ำคำ การสมาส การสนธิ การบัญญัติศัพท์ การทับศัพท์ การแผลงคำ
                 คำประสม    - ลูกน้ำ  ไฟฟ้า  ส้มตำ  เครื่องคาว
                 คำซ้อน       - ก่อสร้าง  ชั่วดี  มากมาย  มากน้อย
                 คำสมาส     - ราชการ  วีรชน  อักษรศาสตร์  กรรมการ
                 คำทับศัพท์ - เซรุ่ม  กาแฟ  ลิฟต์  ช็อคโกแลต


       6. การเรียงคำในประโยค ถ้าเรียงคำในตำแหน่งต่างๆสลับกัน จะทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไป
          เช่น  กัน ขัน มัน      ขัน กัน มัน     มัน กัน ขัน     มัน ขัน กัน
7. คำขยายในภาษาไทยจะเรียงอยู่หลังคำที่ถูกขยายเสมอ
           ยกเว้น คำที่แสดงจำนวน หรือปริมาณ อาจอยู่ด้านหน้าหรือหลังก็ได้
          เช่น หมูดำสามตัวอยู่ในเล้าสีขาว     มีคำขยายอยู่หลัง
                  ในเล้าสีขาวมีหมูสองตัว            มีคำขยายอยู่หน้า
8. คำไทยมีลักษณนาม
           ลักษณนาม คือ นามที่บอกลักษณะของนามข้างหน้า โดยมีหลักการใช้ ดังนี้
           1. ใช้ตามหลังคำวิเศษณ์บอกจำนวนนับที่เป็นตัวเลข
               เช่น นักเรียน 10 คน สุนัข 2 ตัว
               ยกเว้นคำว่า "เดียว" ที่ใช้เป็นจำนวนนับ จะอยู่หลังลักษณนาม เช่น สุนัขตัวเดียว ข้าวจานเดียว
          2. ใช้ตามหลังคำนามเพื่อบอกลักษณะของคำนามที่อยู่ข้างหน้า โดยเน้นลักษณะของนามนั้น 
              เช่น นกฝูงนั้นมาจากไซบีเรีย  หนังสือเล่มนั้นใครเขียน


       9. ภาษาไทยมีวรรคตอนในการเขียน และมีจังหวะในการพูด หากแบ่งวรรคตอนผิด หรือพูดเว้นจังหวะผิด ความหมายก็จะเปลี่ยนแปลงไป
           เช่น เขาทำบุญให้คน จนหมดตัว
                  เขาทำบุญ ให้คนจนหมดตัว
 10. ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีการใช้คำให้เหมาะสมกับฐานะของบุคคล และโอกาส ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางภาษาอันละเอียดละออประการหนึ่ง มีระดับการใช้ดังนี้
            1. ระดับพิธีการ - ใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ ใช้ภาษาทางการที่คัดสรรและเรียบเรียงอย่างประณีต
                เช่น การกล่าวสดุดี การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญา
   
2. ระดับทางการ - ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการโดยทั่วไป ใช้ภาษาทางการ 
               เช่น การแถลงข่าว หนังสือราชการ

 3. ระดับกึ่งทางการ - ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ แต่ลดระดับลงโดยใช้ภาษาสุภาพ ที่เป็นกันเองมากขึ้น
                เช่น การบรรยายในชั้นเรียน 

4. ระดับสนทนา - ใช้ในโอกาสไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยทั่วไป สามารถใช้ภาษาพูดได้
               เช่น การคุยกันในครอบครัว 

5. ระดับกันเอง - ใช้ในโอกาสไม่เป็นทางการกับเพื่อนสนิท สามารถใช้ภาษาพูด และภาษาคะนอง
               เช่น เพื่อนสนิทคุยกัน 


แหล่งที่มา : จงชัย  เจนหัตถการกิจ.  หลักภาษาไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 10.  กรุงเทพฯ: ธนาเพรส, 2551.

วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เพราะ...ความเป็นครูอยู่ที่ใจ


เพราะ...ความเป็นครูอยู่ที่ใจ
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=Z6pzkndjPnU

     ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ 
การแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก 
ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาที่ดี 
เพราะการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่
ความสำเร็จของแต่ละบุคคลและประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศอีกด้วย บุคคลที่สามารถขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้นั่นก็คือ "ครู" พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่๙ ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนทุกคน และประชาชนที่อยู่ในชนบทอย่างมาก 
ดังที่ทรงได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาไว้ในวันที่๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ ความตอนหนึ่งว่า... "การให้การศึกษา คือ การให้คำแนะนำและส่งเสริมบุคคลให้มีความเจริญงอกงาม ในการเรียนรู้คิดอ่าน
และการทำตามอัตภาพของแต่ละคน โดยจุดประสงค์ในที่สุด
คือ ให้บุคคลน้ำเอาความสามารถที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ประโยชน์เกื้อกูลตน เกื้อกูลผู้อื่นอย่างสอดคล้องและไม่ขัดแย้งเบียดเบียนแก่งแย่งกัน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคมเป็นประเทศได้"
     พระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่๙ ขยายโอกาส"การศึกษา"เสมือน"เปลวเทียน"ส่องทางแห่งปัญญา...สว่างไสวไปทั่วแผ่นดินไทย การศึกษาไทย
จะขับเคลื่อนไปได้ด้วยดีจึงต้องอาศัย"ครู"ผู้เป็นเสาหลักในการพัฒนา ครู คือผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ครู คือ"พหูสูต"ซึ่งพร้อมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา และครู คือผู้ที่พร้อมจะเสียสละเพื่อศิษย์ของตน ผู้ที่จะเป็นครูได้นั้นต้องมีความรอบรู้ มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชาการวิชาชีพ  
มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรัก ความศรัทธาในวิชาชีพครู 
มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง "ครู"อาชีพเล็กๆที่ใครหลายคนมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญ อาจเนื่องมาจากสังคม
บางส่วนมองว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ทำงานหนัก เงินเดือนน้อย 
และหาความก้าวหน้าในชีวิตยาก ทัศนคติดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะสังคมอาจลืมคำนึงถึงว่าการที่จะประกอบอาชีพใดๆนั้นต้องเริ่มจากครูทั้งนั้น ดังสำนวนที่ว่า"ครูสร้างคน คนสร้างชาติ"
     ด้วยเหตุผลดังกล่าวฉันจึงมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู เกิดความรักความศรัทธาในวิชาชีพครู จุดประกายความฝันเริ่มขึ้นเมื่อตอน
ชั้นประถมศึกษา ฉันเป็นคนหนึ่งที่มีความผูกพันกับคุณครูตั้งแต่เรียนเตรียมอนุบาล ตั้งแต่เล็กจนโตฉันเป็นเด็กกิจกรรม ได้รับการอบรม 
สั่งสอน ฝึกฝน ขัดเกลา ในศาสตร์ด้านต่างๆหลายแขนง เช่น ภาษาไทย ศิลปะ คณิตศาสตร์ แต่เมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ฉันเริ่มค้นพบตัวตนที่แท้จริงเมื่อตอนเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วว่าฉันชอบวิชาภาษาไทย และความฝันโตขึ้นอยากจะเป็นครู
ภาษาไทยให้ได้เหมือนครูดีในดวงใจที่ฉันชื่นชอบ ฉันยังจดจำภาพในวันวานเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ครูจรรยา สุวรรณรัตน์"


    ครูภาษาไทยที่หลายๆคนกล่าวถึงและเป็นที่รู้จักกัน ฉันอีกคนหนึ่งที่ได้รู้จักครูท่านนี้ตั้งแต่เข้าม.๑ แต่ยังไม่เคยได้เรียนกับท่าน แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปจวบจนฉันอยู่ม.๕ ได้เรียนภาษาไทยกับครูจรรยา 
ในเวลาเช้าของทุกๆวันครูจรรยาจะขับรถมาทำงานด้วยแววตาและหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ทุกครั้งที่เจอลูกศิษย์ก็จะพูดคุยทักทายกันอย่างเป็นมิตร ทำให้ครูเป็นที่รักของศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ในห้องเล็กๆ
ที่เต็มไปด้วยนักเรียนทั้งชายหญิง ทุกครั้งที่ครูเข้ามาสอน ครูไม่ได้สอนแค่เพียงความรู้ภาษาไทยในบทเรียนเท่านั้น ทั้งยังสอดแทรก
บทเรียนชีวิตอีกด้วย ทุกคำสอนของครูเปรียบเสมือนจุดประกาย
ความฝันของนักเรียน ด้วยความรัก ความเมตตาที่ครูมอบให้
เพื่อให้ศิษย์ได้เป็นคนดีของสังคม ดังคำกล่าวที่ว่า"ตำราที่ออกจากแป้นพิมพ์ย่อมเขียนเหมือนกันทุกเล่ม แต่ตำราที่ออกจากหัวใจ 
ไม่มีเล่มใดที่เหมือนกัน เพราะครู คือผู้ให้อย่างแท้จริง"


     นาฬิกาไม่เคยหยุดหมุน กาลเวลาผ่านมาจนถึงฉันอยู่ม.๖ 
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด เครียดที่สุด และเปราะปางที่สุดในเวลาเดียวกันในการสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ครูจรรยา คือบุคคล
ท่านหนึ่งที่คอยให้คำปรึกษา ให้กำลังใจกับฉันเสมอมา ฉันสัมผัสได้ถึงความรัก ความห่วงใยและความหวังดีที่ครูมอบให้ มีอยู่ครั้งหนึ่งความใฝ่ฝันที่ฉันเคยตั้งใจอยากจะเป็นครูภาษาไทย ความมั่นใจ
ในจุดหมายปลายทาง แต่ตอนนั้นมันกำลังจะเจอทางแยก 
ความมั่นใจในอนาคตของตัวเองหดหาย ถูกแทนที่ด้วยความกลัว ความสับสนที่ผสมกับความผิดหวังเล็กๆกำลังทำร้ายเราอยู่ แต่แล้ว
คำพูดที่จุดประกายให้ฉันคิดได้"ลำบากก่อนแล้วสบายทีหลัง 
คนที่ไม่ผ่านร้อนก็เป็นเพียงแค่ถ่าน แต่ถ้าผ่านก็จะกลายเป็นเพชร 
จงพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง หนึ่งสมอง สองมือ เพื่อนทำได้ เราย่อมทำได้เช่นเดียวกัน เลือดน้ำเงินขาวจะต้องพราวอยู่ในสังคม "ครูจะรอแสดงความยินดีที่โสภิญาสอบติดครูภาษาไทยตามที่หนูหวังนะ 
และแล้ววันนั้นก็มาถึงวันที่ฉันสอบติดครูภาษาไทยได้ตามที่หวัง 
เมื่อท่านทราบข่าวท่านยินดีและดีใจกับฉันเป็นอย่างยิ่ง ครูบอกกับฉันว่า จงตั้งใจทำในสิ่งที่ตัวเองรักให้ประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเริ่มต้น ไม่มีปลายทางไหนจะถูกพิชิตได้ 
ถ้ายังไม่เริ่มก้าวแรกของการเดินทาง


     ศิษย์ระลึกถึงครู และครูคิดถึงศิษย์ ทุกคำสอนของครูยังก้องอยู่ในใจของฉันเสมอมา ครูทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจแม้จะต้องเหนื่อย
มากสักเพียงใด แต่คนเป็นครูไม่เคยท้อถอย ถึงแม้ว่าตอนนี้ครูเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ความเป็นเป็นครูไม่มีวันที่จะเกษียณ 
ครูจรรยา เป็นบุคคลต้นแบบครูภาษาไทยที่ดีให้แก่ศิษย์และฉัน
อีกด้วย จะขอสัญญาว่าเมื่อตนเรียนจบจะเป็นครูที่ดี เหมือนที่ท่าน
ได้ทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ที่ดีและสมบูรณ์แบบให้กับศิษย์คนนี้เสมอมา




เราได้ดี...เพราะคุณครู
อยากขอบคุณที่สั่งสอนมา ที่ทำให้เราได้พบกับ
ความฝันที่อยากเป็นจากใจ... จะไม่มีวันลืม

ที่มา : โสภิญา โอทอง (ผู้เขียนบทความ)



วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

นิราศเมืองแกลง

นิราศเมืองแกลง

อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=a8g7heGt3yk
 ๑.    สมัยที่แต่ง
        นิราศเมืองแกลงเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ สันนิษฐานว่าแต่งในรัชกาลที่๑ เมื่อ พ.. ๒๓๕๐ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่อายุประมาณ ๒๐ ปี
        ๑.๑ บอกจุดประสงค์ในการแต่งนิราศเมืองแกลงด้านประวัติ แสดงให้เห็น ถึงว่าสุนทรภู่อายุยังน้อย แต่ก็คงเป็นผู้ที่มีความสามารถ จึงมีผู้มาสมัครเป็นศิษย์และคงจะมีอายุไล่เลี่ยกัน
                       โอ้จำใจไกลนุชสุดสวาท        
                    จึงนิราศเรื่องรักเป็นอักษร
                    ให้เห็นอกตกยากเมื่อจากจร            
                    ไปดงดอนแดนป่าพนาวัน
                    กับศิษย์น้อยสองนายล้วนชายหนุ่ม 
                    น้อยกับพุ่มเพื่อนไร้ในไพรสัณฑ์
                    กับนายแสงแจ้งทางกลางอารัญ     
                    จะพากันแรมทางไปต่างเมือง
                                             (นิราศเมืองแกลง : ๘๑)
    ๒.   จุดมุ่งหมายในการแต่ง
        จุดมุ่งหมายในการแต่งนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ คือ สุนทรภู่คิดถึงบิดาและตั้งใจจะไปบวชบ้างก็ว่าตั้งใจจะไปบอกบิดาว่าตอนนี้กำลังจะเป็นฝั่งเป็นฝา และมีเรื่องเดือดร้อนให้ช่วย จากการเดินทางเมืองแกลงในครั้งนี้เป็นตอนที่สุนทรภู่มีความรักเป็นครั้งแรกและต้องพลัดพรากจากคนรักโดยที่ไม่ได้บอกลากับหญิงคนรักก็คือแม่จัน นั่นเอง
        .๑ สุนทรภู่คิดถึงบิดา ตั้งใจจะไปหาบิดา
                        มาพบพ่อท้อใจด้วยไกลแม่  
                   ให้ตั้งแต่เศร้าสร้อยละห้อยหา
                   ชนนีอยู่ศรีอยุธยา                       
                   บิดามาอ้างว้างอยู่กลางไพร
                   ภูเขาขวางทางกั้นอรัญเวศ         
                   ข้ามประเทศทุ่งท่าชลาไหล
                   เดินกันดารปานปิ้มจะบรรลัย      
                   จึงมาได้เห็นหน้าบิดาตัว
                   ท่านชูช่วยอวยพรให้ผ่องแผ้ว     
                   ดังฉัตรแก้วกางกั้นไว้เหนือหัว
                   อุตส่าห์ฝนไพลทารักษาตัว         
                   ค่อยยังชั่วมึนเมื่อยที่เหนื่อยกาย
                                            (นิราศเมืองแกลง : ๙๗)
    
        ๒.๒ จุดประสงค์ในการแต่งนิราศ
                         นิราศเรื่องเมืองแกลงแต่งมาฝาก   
                   เหมือนขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย
                   อย่าหมางหมองข้องขัดตัดอาลัย  
                   ให้ชื่นใจเหมือนแต่หลังมั่งเถิดเอยฯ
                                            (นิราศเมืองแกลง : ๑๐๑)
       ๒.๓ สาเหตุที่สุนทรภู่จำต้องเดินทางจากนางอีกสาเหตุหนึ่ง 
นอกเหนือจากการต้องการไปเยี่ยมบิดา
                         ฉันพลัดพรากจากจรเพราะร้อนจิต   
                   ใช่จะคิดอายอางขนางหนี
                   ให้นิ่มน้องครองรักไว้สักปี                     
                   ท่านสุขีเถิดข้าขอลาไป
                                            (นิราศเมืองแกลง : ๘๒)
  ๓.   เนื้อเรื่องย่อ
        นิราศเมืองแกลงมีเนื้อหาเป็นช่วงชีวิตหนึ่งของสุนทรภู่ เป็นตอนที่มีความรักครั้งแรกและต้องพลัดพรากจากคนรัก การคร่ำครวญ
ความรักในนิราศจึงแสดงถึงความทุกข์ ความห่วงใย ความอาลัย
ของการพลัดพรากจากคนรักโดยมีเนื้อเรื่องย่อดังนี้
        นิราศเมืองแกลงมีเรื่องราวเกี่ยวกับสุนทรภู่เดินทางไปเยี่ยมบิดาซึ่งบวชอยู่ที่ตำบลบ้านกร่ำอำเภอแกลงจังหวัดระยองนิราศเรื่องนี้สุนทรภู่ได้เริ่มต้นโดยการกล่าวพรรณนาความน้อยใจที่มีคนรัก
แต่ไม่ได้อยู่ใกล้กัน(คือแม่จันภรรยาคนแรกของสุนทรภู่)การจากนางไปในครั้งนี้ยังไม่ทันได้ล่ำลาใดๆทั้งนั้น การเดินทางไปเมืองแกลง
ในครั้งนี้มีผู้ร่วมเดินทางไปด้วยเป็นศิษย์ ๒ คน คือ น้อยกับพุ่ม 
และนายแสงซึ่งเป็นคนนำทางลงเรืออกจากกรุงเทพฯ(ออกจากพระราชวังหลัง) ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยา คลองสำโรง คลองหัวตะเข้ ออกแม่น้ำบางปะกงขึ้นบกที่บางปลาสร้อย หนองมน บางพระ ศรีราชา ทุ่งสาขลา บางละมุง ทุ่งพัทยา ห้วยอีร้า ห้วยโป่ง ห้วยพร้าว สุนักข์กะบาก บ้านทับม้า ระยอง บ้านแลง คลองกรุ่น บ้านแกลง ชายทะเลแหลมทองหลวง ชะวาลาวน และถึงที่หมายปลายทาง
นั่นก็คือบ้านกร่ำ นิราศเมืองแกลงมีเนื้อหาเป็นช่วงชีวิตหนึ่งของ
สุนทรภู่เป็นตอนที่มีความรักครั้งแรกและต้องพลัดพรากจากคนรัก การคร่ำครวญความรักในนิราศจึงแสดงถึงความทุกข์ความห่วงใย ความอาลัยของการพลัดพรากจากคนรัก

        ๓.๑ ข้อสันนิษฐานในช่วงต้นเรื่อง
                    โอ้สังเวชวาสนานิจจาเอ๋ย
               จะมีคู่มิได้อยู่ประคองเชย             
               ต้องละเลยดวงใจไว้ไกลตา
               ถึงทุกข์ใครในโลกที่โศกเศร้า      
               ไม่เหมือนเราภุมรินถวิลหา
               จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา     
               ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน
               โอ้จำใจไกลนุชสุดสวาท              
               จึงนิราศเรื่องรักเป็นอักษร
               ให้เห็นอกตกยากเมื่อจากจร         
               ไปดงดอนแดนป่าพนาวัน
               กับศิษย์น้องสองนายล้วนชายหนุ่ม 
               น้อยกับพุ่มเพื่อนไร้ในไพรสัณฑ์
               กับนายแสงแจ้งทางกลางอรัญ     
               จะพากันแรมทางไปกลางเมือง
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๘๑)
        ๓.๒ การเดินทางในครั้งนี้สุนทรภู่ไม่ได้บอกกล่าวกับแม่จัน
                     ขออารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สิงศาล  
                ลือสะท้านอยู่ว่าเจ้าห้าวกำแพง
                ข้าจะไปทางไกลถึงเมืองแกลง       
                เจ้าจงแจ้งใจภัคนีที
                ฉันพลัดพรากจากจรเพราะร้อนจิต  
                ใช่จะคิดอายอางขนางหนี
                ให้นิ่มน้องครองรักไว้สักปี               
                ท่านสุขีเถิดข้าขอลาไป
                                            (นิราศเมืองแกลง : ๘๒)
        ๓.๓ สะท้อนถึงความกังวลเรื่องความรักกับแม่จัน
                     จึงหลีกตัวกลัวบุญคุณบิดา            
                ไปแรมป่าปิ้มชีวันจะบรรลัย
                                            (นิราศเมืองแกลง : ๑๐๑)
        ๓.๔ มีการฝากน้องและมารดากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
                     ขออารักษ์หลักประเทศนิเวศน์วัง 
                 เทพทั้งเมืองฟ้าสุราลัย
                 ขอฝากน้องสองรามารดาด้วย             
                 เอ็นดูช่วยปกครองให้ผ่องใส
                                            (นิราศเมืองแกลง : ๘๑)
        ๓.๕ เดินทางผ่านคลองสำโรง
                     พอแจ่มแจ้งแสงเงินเงาระยับ   
                 ดาวเดือนดับเด่นดวงพระสุริย์ใส
                 ถึงปากช่องคลองสำโรงสำราญใจ    
                 พอน้ำไหลขึ้นเช้าก็เข้าคลอง
                                            (นิราศเมืองแกลง : ๘๒)
      
         ๓.๖ เดินทางผ่านคลองหัวตะเข้
                     ระหริ่งเรื่อยเฉื่อยเสียงเรไรไพร  
                 ฤทัยไหวแว่วว่าพะงางาม
                 ถึงชะแวกแยกคลองสองชะวาก           
                 ข้างฝั่งฟากหัวตะเข้มีมะขาม
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๘๔)
        .๗ เดินทางผ่านหนองมน
                     ริมทางเถื่อนเรือนเหย้ามีรายราย
                 เห็นฝูงควายปล่อยเกลื่อนอยู่กลางแปลง
              ถึงหนองมนมีตำบลชื่อบ้านไร่    
              เขาถากไม้ทุกประเทศทุกเขตแขวง
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๘๘)
        ๓.๘ เดินทางผ่านบางละมุง
                     ออกพ้นย่านบ้านบางละมุงไป   
                ค่อยคลายใจจรเลียบชลามา
                ในกระแสแลล้วนแต่โป๊ะล้อม        
                ลงอวนอ้อมโอบสกัดเอามัจฉา
                                            (นิราศเมืองแกลง : ๙๐)
        ๓.๙ เดินทางผ่านทุ่งพัทยา
                   ออกชะวากปากทุ่งพัทยา        
                นายแสงพาเลี้ยวหลงที่วงเวียน
                บุกละแวกแฝกแขมที่แอร่มรก     
                กับกอกกสูงสูงเสมอเศียร
                                            (นิราศเมืองแกลง : ๙๐)
        ๓.๑๐ เดินทางผ่านห้วยอีร้า
               ถึงห้วยอีร้าแลระย้าล้วนสายหยุด      
               ดอกนั้นสุดที่จะดกดูไสว
               กะมองกะเมงนมแมวเป็นแถวไป    
               ล้วนลูกไม้กลางป่าทั้งหว้าพลอง
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๙๓)
        ๓.๑๑ เดินทางผ่านห้วยโป่ง
                  ถึงห้วยโป่งเห็นธารละหานไหล 
               คงคาใสปลาว่ายคล้ายคล้ายเห็น
               มีกรวดแก้วแพรวพรายรายกระเด็น   
               บ้างแลเห็นเป็นสีบุษราคัม
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๙๓-๙๔)
        ๓.๑๒ เดินทางผ่านห้วยพร้าว
                 ถึงห้วยพร้าวเท้าเมื่อยออกเลื่อยล้า  
               เห็นผิดฟ้าฝนย้อยลงหยิมหยิม
               สุริย์ฉายบ่ายเยื้องเมืองประจิม          
               อุระปิ้มศรปักสลักทรวง
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๙๔)
        ๓.๑๓ เดินทางผ่านระยอง
                  แล้วชวนสองน้องรักร่วมชีวิต     
               ให้เปลี่ยวจิตไม่แจ้งรู้แห่งหน
               จากระยองย่องตามกันสามคน         
               เลียบถนนคันนาป่ารำไร
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๙๕)
        ๓.๑๔ เดินทางผ่านบ้านแลง
                  เขาชี้นิ้วแนะทิวหนทางไป          
               ประจักษ์ใจจำแน่ดำเนินมา
               ถึงบ้านแลทางแห้งเห็นทุ่งกว้าง     
               เฟือนหนทางทวนทบตลบหา
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๙๕)
        ๓.๑๕ เดินทางผ่านบ้านแกลง
                  ถึงบ้านแกลงลัดบ้านไปย่านกลาง     
               เห็นฝูงนางสานเสื่อเห็นเหลือใจ
               แต่ปากพลอดมือสอดขยุกขยิก             
               จนมือหงิกงอแงไม่แบได้
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๙๖)
        ๓.๑๖ เดินทางถึงบ้านกร่ำ
                  ถึงหย่อมย่านบ้านกร่ำพอค่ำพลบ         
               ประสบพบเผ่าพงศ์พวกวงศา
               ขึ้นกระฎีที่สถิตท่านบิดา                   
               กลืนน้ำตาก็ไม่ฟังเฝ้าพรั่งพราย
                                           (นิราศเมืองแกลง : ๙๗)
  ๔.    คุณค่า
        ๔.๑ คุณค่าด้านวรรณศิลป์
           ๔.๑.๑ การดำเนินเรื่องมีความเร้าใจให้ผู้อ่านสนใจติดตามไปตลอดเรื่อง การดำเนินเรื่องจะบรรยายไปตามระยะเวลา
ของการเดินทาง กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สภาพชีวิต
ความเป็นอยู่ของผู้คนที่พบเห็นวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี ธรรมชาติที่พบเห็น สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และยังได้สอดแทรกคติธรรม ทำให้ผู้อ่านติดใจในถ้อยคำ
ที่บรรยายธรรมชาติที่งดงาม ในนิราศเรื่องนี้ใช้ความรัก
ความอาลัยเป็นแก่นเรื่องเพื่อสร้างเรื่องให้งดงามสะเทือนอารมณ์

                     ตัวอย่าง
                    ๑.) สภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพ
                            อันพวกเขาชาวประมงไม่โหยงหยิบ 
                       ล้วนตีนถีบปากกัดขัดเขมร
                       จะได้กินข้าวเช้าก็ราวเพล             
                       ดูจัดเจนโลดโผนในโคลนตม
                       จึงมั่งคั่งตั้งบ้านในการบาป           
                       แต่ต้องสาปเคหาให้สาสม
                       จะปลูกเรือนก็มิได้ใส่ปั้นลม          
                       ใครขืนทำก็ระทมด้วยเพลิงลาม
                                                   (นิราศเมืองแกลง : ๘๗)
                  ๒.) อารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรงด้วยการกล่าวให้เกิดความสะเทือนใจ หรือเกิดความรู้สึก
                            เห็นทิวทุ่งวุ้งเวิ้งให้หวั่นหวาด  
                       กัมปนาทเสียงนกวิหคโหย
                       ไหนจะต้องละอองน้ำค้างโปรย      
                       เมื่อลมโชยชื่นนวลจะชวนเชย
                       โอ้นึกนึกแล้วก็น่าน้ำตาตก             
                       ด้วยแนบอกมิได้แนบแอบเขนย
                       ได้หมอนข้างต่างน้องประคองเกย  
                       เมื่อไรเลยจะได้คืนมาชื่นใจ ฯ
                                                     (นิราศเมืองแกลง : ๘๕)         
                  ๓.) แสดงอารมณ์สะเทือนใจของกวี ให้เห็นถึงทุกข์
อันเกิดจากการพลัดพรากจากคนรัก
          โอ้สังเวชวาสนานิจจาเอ๋ย
     จะมีคู่มิได้อยู่ประคองเชย       
     ต้องละเลยดวงใจไว้ไกลตา
      ถึงทุกข์ใครในโลกที่โศกเศร้า  
      ไม่เหมือนเราภุมรินถวิลหา
      จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา  
      ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน
                                   (นิราศเมืองแกลง : ๘๑)
                ๔.๑.๒ ลักษณะคำประพันธ์ นิราศเมืองแกลงแต่งเป็นกลอน เลือกใช้ถ้อยคำที่มีสัมผัสเพื่อให้กลอนมีความไพเราะความสำคัญ
ของนิราศอยู่ที่อารมณ์สะเทือนใจ แนวนึกคิดของกวีที่แสดงออก
ในนิราศดีเด่นประทับใจผู้อ่าน ทำให้กลอนเกิดเสียงเสนาะ
                     ตัวอย่าง
                     ๑.) ความสะเทือนใจของกวีที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดอารมณ์และถ่ายทอดออกมา
                           ถึงอารามนามชื่อวัดดอกไม้    
                      คิดถึงไปแนบทรวงดวงสมร
                      หอมสุคนธ์เคียงกายขจายจร             
                      โอ้ยามนอนห่างนางระคางคาย
                                                      (นิราศเมืองแกลง : ๘๒)
               ๔.๑.๓ การใช้ถ้อยคำ ที่สั้นและง่ายทำให้ความกระชับ
และให้ภาพเด่นชัดใช้เสียงของถ้อยคำให้เกิดอารมณ์ได้อย่างวิเศษ การเล่นคำ พลิกแพลงคำ ใช้คำพ้องรูป พ้องเสียง เพื่อให้การใช้เสียงอ่อนหวานเสนาะหู การซ้ำเสียง การใช้โวหาร เป็นการสื่อสารที่กระทบอารมณ์ผู้อ่านได้อย่างลึกซึ้ง
                  

                     ตัวอย่าง
                      ๑.) ใช้โวหารภาพพจน์อุปลักษณ์  เช่น ดวงกานดา 
หมายถึง นางอันเป็นที่รัก
                            ถึงวัดแจ้งแสงจันทร์จำรัสเรือง    
                      แลชำเลืองเหลียวหลังหลั่งน้ำตา
                      เป็นห่วงหนึ่งถึงชนกที่ปกเกล้า      
                      จะแสนเศร้าครวญคอยละห้อยหา
                      ทั้งจากแดนแสนห่วงดวงกานดา    
                      โอ้อุรารุ่มร้อนอ่อนกำลัง
                                                   (นิราศเมืองแกลง : ๘๑)
                 ๒.) การเล่นคำและเล่นความ คือ คำว่า “ปลื้ม”                       เป็นการพลิกแพลงคำ
                        ถึงสามปลื้มพี่นี้ร่ำปล้ำแต่ทุกข์              
                  สุดจะปลุกใจปลื้มให้ลืมหลัง
                                                   ( นิราศเมืองแกลง : ๘๑ )
                  ๓.) การใช้โวหารภาพพจน์อุปมา
                                  ถึงย่านยาวดาวคะนองคะนึงนิ่ง   
                              ยิ่งดียิ่งเสียใจใครจะเหมือน
                        พระพายพานซ่านเสียวทรวงสะเทือน 
                        จนเดือนเคลื่อนคล้อยดงลงไรไร
                              โอ้ดูเดือนเหมือนดวงสุดาแม่             
                              กระต่ายแลเหมือนฉันคิดพิสมัย
                              เห็นแสงจันทร์อันกระจ่างค่อยสร่างใจ  
                              เดือนครรไลลับตาแล้วอาวรณ์
                                                        (นิราศเมืองแกลง : ๘๒)

                   ๔.) การเล่นคำ พ้องรูป พ้องเสียง
                                 ถึงบางผึ้งผึ้งรังก็รั้งร้าง            
                              พี่ร้างนางร้างรักสมัครหมาย
                              มาแสนยากฝากชีพกับเพื่อนชาย  
                              แม่เพื่อนตายมิได้มาพยาบาล
                                                        (นิราศเมืองแกลง : ๘๒)
  ๕.) การเล่นคำสัมผัสอักษร
                                 ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้น       
                              ดูเลื่อมลื่นเลนลากลำละหาน
                              เขาแจวจ้องล่องแล่นแสนสำราญ   
                              มาพบบ้านบางระจ้าวยิ่งเศร้าใจ
                              อนาถนิ่งอิงเขนยคะนึงหวน            
                              จนจวบจวนแจ่มแจ้งปัจจุสมัย
                              ศศิธรอ่อนแออับพยับไพร             
                              ถึงเซิงไทรศาลพระประแดงแรง
                                                         (นิราศเมืองแกลง : ๘๒)
                  ๖.) ใช้โวหารภาพพจน์อุปลักษณ์ เปรียบเทียบกระแสน้ำที่ไหลคดเคี้ยวกับน้ำใจไม่ซื่อตรง
                                  พอแจ่มแจ้งแสงเงินเงาระยับ  
                              ดาวเดือนดับเด่นดวงพระสุริย์ใส
                              ถึงปากช่องคลองสำโรงรำราญใจ     
                              พอน้ำไหลขึ้นเช้าก็เข้าคลอง
                              เห็นเพื่อนเรือเรียงรายทั้งชายหญิง    
                              ดูก็ยิ่งทรวงช้ำเป็นน้ำหนอง
                              ไม่แม้นเหมือนคู่เชยเคยประคอง      
                              ก็เลยล่องหลีกมาไม่อาลัย
                              กระแสชลวนเชี่ยวเรือเลี้ยวลด           
                              ดูค้อมคดขอบคุ้งคงคาไหล
                        แต่สาชลเจียวยังวนเป็นวงไป          
                        นี่หรือใจที่จะตรงอย่างสงกา
                                                        (นิราศเมืองแกลง : ๘๒)

                    ๗.) ใช้คำบรรยายให้เกิดจิตนาการ ( พรรณนาโวหาร )
                                  ถึงด่านทางกลางคลองข้างฝั่งซ้าย   
                              ตะวันสายแสงส่องต้องพฤกษา
                              ออกสุดบ้านถึงทวารอรัญวา                 
                              เป็นทุ่งคาแฝกแขมขึ้นแกมกัน
                              ลมระริ้วปลิวหญ้าคาระยาบ                  
                              ระแนบนาบพลิ้วพลิกกระดิกหัน
                              ดูโล่งลิ่วทิวรุกขะเรียงรัน                      
                              เป็นเขตคันขอบป่าพนาลัย ฯ
                                                         (นิราศเมืองแกลง : ๘๓)
      
   ๘.) การให้อารมณ์
                   พอฟ้าคล้ำค่ำพลบหรุบรู่             
              ยุงออกฉู่ชิงตลบตบไม่ไหว
                              ได้รับรองป้องกันเพียงควันไฟ            
                              แต่หายใจมิใคร่ออกด้วยอบอาย
              โอ้ยามยากจากเมืองแล้วลืมมุ้ง                   
              มากรำยุงเวทนาประดาหาย
              จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย           
              แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา
              พอน้ำตึงถึงเรือก็รีบล่อง                  
              เข้าในคลองคึกคักกันนักหนา
              ด้วยมือมัวกลัวตอต้องรอรา              
              นาวามาเรียงตามกันหลามทาง
              ถึงบางบ่อพอจันทร์กระจ่างแจ้ง         
              ทุกประเทศเขตแขวงนั้นกว้างขวาง
              ดูดาวดาษกลาดฟ้านภาภางค์           
              วิเวกทางท้องทุ่งสะท้านใจ
              ดูริ้วริ้วลมปลิวที่ปลายแฝก               
              ทุกละแวกหวาดหวั่นอยู่ไหวไหว
              รำลึกถึงขนิษฐายิ่งอาลัย                  
              เช่นนี้ได้เจ้ามาด้วยจะดิ้นโดย
                                     (นิราศเมืองแกลง : ๘๔)
   ๙.) ใช้อุปมาโวหาร
               ถึงบางสมัครเหมือนพี่รักสมัครมาด       
           มาแคล้วคลาดมิได้อยู่กับคู่สม
                              ถึงยามนอนนอนเดียวเปลี่ยวอารมณ์        
                              จะแลชมอื่นอื่นไม่ชื่นใจ
                                               (นิราศเมืองแกลง : ๘๕-๘๖)       
                 ๔.๒ คุณค่าด้านความรู้
                        ๔.๒.๑    เขาสร้างศาลเทพาพยายาม 
                                กระดานสามแผ่นพิงไว้บูชา
                                ตะลึงแลแต่ล้วนลูกจระเข้           
                                โดยคะเนมากมายทั้งซ้ายขวา
                                สักสองร้อยลอยไล่กินลูกปลา     
                                เห็นแต่ตากับจมูกเหมือนตุ๊กแก
                                โอ้คลองขวางทางแดนแสนโทสก  
                                ดูบนบกก็แต่ล้วนลิงแสม
                          เลียบตลิ่งวิ่งตามชาวเรือแพ    
                          ทำลอบแลหลอนหลอกตะคอกคน
                                 คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง      
                                 เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
                                 ทำหลุกหลิกเหลือกลานพานลุกลน   
                                 เขาด่าคนจึงว่าลิงโลนลำพอง
                                                    (นิราศเมืองแกลง : ๘๔)


                  ๔.๒.๒         ที่ขายผ้าหน้าถังก็เปิดโถง    
                                  ล้วนเบี้ยโป่งหญิงชายมาจ่ายของ
                                  สักยี่สิบหยิบออกเป็นกอบกอง          
                                  พี่เที่ยวท่องทัศนาจนสายัณห์
                                  ดูก็งามตามประสาพนาเวศ            
                                  ไม่นวลเนตรเหมือนหนึ่งในไอศวรรย์
                                                    (นิราศเมืองแกลง : ๘๘)       
 ๔.๒.๓          โอ้คิดเห็นเอ็นดูหมู่แมงดา     
                  ตัวเมียพาผัวลอยเที่ยวเล็มไคล
                                  เขาจับผัวตัวทิ้งไว้กลางน้ำ                
                                  ระลอกซ้ำสาดซัดให้ตัดษัย
                  พอเมียตายฝ่ายผัวก็บรรลัย              
                  โอ้เหมือนใจที่พี่รักภัคินี
                  แม้น้องตายพี่จะวายชีวิตด้วย            
                  เป็นเพื่อนม้วยมิ่งแม่ไปเมืองผี
                                   (นิราศเมืองแกลง : ๙๐)  
๕.ภาพสะท้อนทางสังคมที่ปรากฏในเรื่อง
     ๕.๑ ความเชื่อ
          ๑.) ขออารักษ์หลักประเทศนิเวสน์วัง  
             เทพทั้งเมืองฟ้าสุราลัย
             ขอฝากน้องสองรามารดาด้วย              
             เอ็นดูช่วยปกครองให้ผ่องใส
             ตัวข้าบาทจะนิราศออกแรมไพร           
             ให้พ้นภัยคลาดแคล้วอย่าแผ้วพาน
                                                    (นิราศเมืองแกลง : ๘๑)
         ๒.) ขออารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สิงศาล        
            ลือสะท้านอยู่ว่าเจ้าห้าวกำแหง
            ข้าจะไปทางไกลถึงเมืองแกลง             
            เจ้าจงแจ้งใจภัคนีที
                     (นิราศเมืองแกลง : ๘๒)
      ๓.) ถึงหย่อมย่านบ้านระกาดต้องลงถ่อ 
         ค่อยลอยรอเรียงลำตามน้ำไหล
         จนล่วงเข้าหัวป่าพนาลัย                     
         ล้วนเงาไม้มืดคล้ำในลำคลอง
         ระวังตัวกลัวตอตะเคียนขวาง                
         เป็นเยี่ยงอย่างผู้เฒ่าเล่าสนอง
         ว่าผีสางนางตะเคียงทะนอง                 
         ใครถูกต้องแตกตายลงหลายลำ
         พอบอกกันยังมิทันจะขาดปาก               
         เห็นเรือจากแจวตรงหลงถลำ
         กระทบผางตอนางตะเคียนตำ               
         ก็โคลงคว่ำล่มลงในคงคา
         พวกเรือพี่สี่คนขนสยอง                       
         ก็เลยล่องหลีกทางไปข้างขวา
         พ้นระวางนางรุกขฉายา                      
         ต่างระอาเห็นฤทธิ์ประสิทธิ์จริง
                   (นิราศเมืองแกลง ๔.) 
               ๔.) แสนวิตกอกพี่เมื่ออ้างว้าง           
                  ถามถึงทางที่จะไปในไพรสัณฑ์
                  ชาวบ้านบอกมรคาว่ากว่าพัน              
                  สะกิดกันแกล้วกล้าเป็นน่ากลัว
                  ยิ่งหวาดจิตคิดคุณพระชินสีห์               
                  กับชนนีบิตุเรศบังเกิดหัว
                  ข้าตั้งใจไปหาบิดาตัว                        
                  ให้พ้นชั่วที่ชื่อว่าไภยันต์
               (นิราศเมืองแกลง : ๙๑ – ๙๒)
 ๕.๒ คุณค่าด้านสภาพชีวิตและสังคมในสมัยโบราณ คุณค่าที่แสดงสภาพชีวิตและสังคมในสมัยโบราณ
  ๑.)   ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ  
      แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน
              มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน        
              ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง
              โอ้ธานีศรีอยุธยาเอ๋ย                      
              นึกจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์
                                  (นิราศเมืองแกลง : ๘๑) 
         ๒.)   ถึงบางพลีมีเรือนอารามพระ      
            ดูระกะดาษทางไปกลางทุ่ง
            เป็นเลนลุ่มลึกเหลวเพียงเอวพุง         
            ต้องลากจูงจ้างควายอยู่รายเรียง
            ดูเรือแพแออัดอยู่ยัดเยียด                
            เข้าเบียดเสียดแทรกกันสนั่นเสียง
            แจวตะกูดเกะกะปะกระเชียง           
            บ้างทุ่มเถียงโดนดุกันวุ่นวาย
            โอ้เรือเราคราวเข้าไปติดแห้ง          
            เห็นนายแสงเป็นผู้ใหญ่ก็ใจหาย
            นั่งพยุงตุ้งก่านัยน์ตาลาย               
            เห็นวุ่นวายสับสนก็ลนลาน
                 (นิราศเมืองแกลง : ๘๓)
  ๓.)   แลทะเลแล้วก็ให้อาลัยนุช    
     ไม่สร่างสุดโศกสิ้นถวิลหา
             จนอุทัยไตรตรัสจำรัสตา                 
              เห็นเคหาเรียงรายริมชายทะเล
              ดูเรือแพแต่ละลำล้วนโปะโหละ        
              พวกเจ๊กจีนกินโต๊ะเสียงโหลเหล
              บ้างลุยแลนล้วงปูดูโซเซ                 
              สมคะเนใส่ข้องเที่ยวมองคอย
              อันนารีที่ยังสาวพวกชาวบ้าน          
              ถีบกระดานถือตะกร้าเที่ยวมองคอย
              ดูแคล่วคล่องล่องแล่นแฉลบลอย      
              เอาขาห้อยทำเป็นหางไปกลางเลน
                   (นิราศเมืองแกลง : ๘๗)

อ้างอิง : หนังสือชีวิตและงานสุนทรภู่