วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ลักษณะภาษาไทย

ลักษณะภาษาไทย...


1. ความหมายของภาษา

       "ภาษา" เป็นศัพท์ที่มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า กล่าว พูด บอก 
       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายหลักๆของ "ภาษา" ว่า
          1. ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียน เพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษากฎหมาย
          2. เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาท่าทาง ภาษามือ
          

ประเภทของภาษา

  • แบ่งตามลักษณะของภาษา
          1. วัจนภาษา คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร ได้แก่ ภาษาพูด และภาษาเขียน
2. อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร ได้แก่ ภาษามือ ภาษาท่าทาง ภาษาหน้าตา ภาษาสัญลักษณ์
  • แบ่งตามวิธีการรับสาร
          1. จักษุภาษา คือ ภาษาที่อาศัยดวงตาในการรับสาร ได้แก่ ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษาหน้าตา ภาษาสัญลักษณ์
          2. โสตภาษา คือ ภาษาที่เกิดจากการใช้หูฟังเพื่อรับสาร ได้แก่ ภาษาพูด เสียงสัญญาณ
          3. สัมผัสภาษา คือ ภาษาที่เกิดจากการใช้มือสัมผัสเพื่อรับสาร มีชื่ออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ผัสสภาษา เป็นภาษาของผู้พิการทางสายตา ซึ่งปัจจุบัน ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านหนังสือได้ จากการสัมผัสอักษรเบรลล์ 
 

2. องค์ประกอบของภาษา

       1. เสียง เกิดจากการเปล่งเสียงแทนพยางค์และคำ
       2. พยางค์และคำ เกิดจากการประสมพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์
       3. ประโยค คือ การนำคำมาเรียงกันตามลักษณะ โครงสร้างของภาษา หรือเป็นระบบไวยากรณ์ของแต่ละภาษา
       4. ความหมาย คือ ความหมายที่เกิดจากคำและประโยค เพื่อใช้ในการสื่อสารทำความเข้าใจกัน

ความหมาย 2 ชนิด

       1. ความหมายของคำ แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ความหมายนัยตรง และความหมายนัยประหวัด 
2. ความหมายของประโยค เกิดจากการนำคำมาเรียงกันตามหลักไวยากรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ภาคประธานและภาคแสดง

3. ประวัติความเป็นมา และลักษณะสำคัญของภาษาไทย 

  • ประวัติความเป็นมาของภาษาไทย

       ภาษาไทยนั้นมีวิวัฒนาการเริ่มตั้งแต่รวมกันเป็นชนชาติ ปรากฏหลักฐานในภาษาพูดที่อยู่ในตระกูลภาษาไต หรือไท ทางแถบตอนใต้ของจีน แคว้นอัสสัมของอินเดีย ตอนเหนือของเมียนมาร์ ประเทศไทย และประเทศลาว และปรากฏหลักฐานชัดเจนขึ้น เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงคิดค้นประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นมาใช้ใน พ.ศ.1826 ซึ่งพัฒนามาจากอักษรขอมหวัด และมอญโบราณ
  • ลักษณะสำคัญของภาษาไทย
       1. ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คือ แต่ละคำมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง ใช้ได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปศัพท์ เพื่อบอกเพศ พจน์ การกระทำ และกาลเวลา 
          เช่น พ่อ แม่ สะใภ้ ฝูง เหล่า พรุ่งนี้

       2. คำไทยแท้ส่วนมากมีพยางค์เดียว และมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง 
          เช่น โอ่ง หมา ดิน น้ำ นั่ง นอน กิน สั้น ไม้ ใจ หัว


       3. คำไทยแท้มีตัวสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด
          เช่น ชก กัด ตบ ถอง ชน ทุ่ม ต่อย เหนี่ยว
        
         ข้อสังเกต คำที่มีมาตราตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราส่วนใหญ่ มักจะเป็นคำที่มาจากภาษาอื่น 
          เช่น อัจฉรา สัจจะ อิสระ         มาจากภาษาบาลี
                 อัปสร สัตย์ อิศวร            มาจากภาษาสันสกฤต
                 เพ็ญ เผอิญ เดียรดาศ     มาจากภาษาเขมร


       4. ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ ทำให้คำเกิดระดับเสียงต่างกัน และมีความหมายต่างกันด้วย
          เช่น  เสือ เสื่อ เสื้อ         ขา ข่า ข้า        ปา ป่า ป้า


       5. มีการสร้างคำ เพื่อเพิ่มความหมายให้มากขึ้น 
          เช่น การประสมคำ การซ้อนคำ การซ้ำคำ การสมาส การสนธิ การบัญญัติศัพท์ การทับศัพท์ การแผลงคำ
                 คำประสม    - ลูกน้ำ  ไฟฟ้า  ส้มตำ  เครื่องคาว
                 คำซ้อน       - ก่อสร้าง  ชั่วดี  มากมาย  มากน้อย
                 คำสมาส     - ราชการ  วีรชน  อักษรศาสตร์  กรรมการ
                 คำทับศัพท์ - เซรุ่ม  กาแฟ  ลิฟต์  ช็อคโกแลต


       6. การเรียงคำในประโยค ถ้าเรียงคำในตำแหน่งต่างๆสลับกัน จะทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไป
          เช่น  กัน ขัน มัน      ขัน กัน มัน     มัน กัน ขัน     มัน ขัน กัน
7. คำขยายในภาษาไทยจะเรียงอยู่หลังคำที่ถูกขยายเสมอ
           ยกเว้น คำที่แสดงจำนวน หรือปริมาณ อาจอยู่ด้านหน้าหรือหลังก็ได้
          เช่น หมูดำสามตัวอยู่ในเล้าสีขาว     มีคำขยายอยู่หลัง
                  ในเล้าสีขาวมีหมูสองตัว            มีคำขยายอยู่หน้า
8. คำไทยมีลักษณนาม
           ลักษณนาม คือ นามที่บอกลักษณะของนามข้างหน้า โดยมีหลักการใช้ ดังนี้
           1. ใช้ตามหลังคำวิเศษณ์บอกจำนวนนับที่เป็นตัวเลข
               เช่น นักเรียน 10 คน สุนัข 2 ตัว
               ยกเว้นคำว่า "เดียว" ที่ใช้เป็นจำนวนนับ จะอยู่หลังลักษณนาม เช่น สุนัขตัวเดียว ข้าวจานเดียว
          2. ใช้ตามหลังคำนามเพื่อบอกลักษณะของคำนามที่อยู่ข้างหน้า โดยเน้นลักษณะของนามนั้น 
              เช่น นกฝูงนั้นมาจากไซบีเรีย  หนังสือเล่มนั้นใครเขียน


       9. ภาษาไทยมีวรรคตอนในการเขียน และมีจังหวะในการพูด หากแบ่งวรรคตอนผิด หรือพูดเว้นจังหวะผิด ความหมายก็จะเปลี่ยนแปลงไป
           เช่น เขาทำบุญให้คน จนหมดตัว
                  เขาทำบุญ ให้คนจนหมดตัว
 10. ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีการใช้คำให้เหมาะสมกับฐานะของบุคคล และโอกาส ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางภาษาอันละเอียดละออประการหนึ่ง มีระดับการใช้ดังนี้
            1. ระดับพิธีการ - ใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ ใช้ภาษาทางการที่คัดสรรและเรียบเรียงอย่างประณีต
                เช่น การกล่าวสดุดี การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญา
   
2. ระดับทางการ - ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการโดยทั่วไป ใช้ภาษาทางการ 
               เช่น การแถลงข่าว หนังสือราชการ

 3. ระดับกึ่งทางการ - ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ แต่ลดระดับลงโดยใช้ภาษาสุภาพ ที่เป็นกันเองมากขึ้น
                เช่น การบรรยายในชั้นเรียน 

4. ระดับสนทนา - ใช้ในโอกาสไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยทั่วไป สามารถใช้ภาษาพูดได้
               เช่น การคุยกันในครอบครัว 

5. ระดับกันเอง - ใช้ในโอกาสไม่เป็นทางการกับเพื่อนสนิท สามารถใช้ภาษาพูด และภาษาคะนอง
               เช่น เพื่อนสนิทคุยกัน 


แหล่งที่มา : จงชัย  เจนหัตถการกิจ.  หลักภาษาไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 10.  กรุงเทพฯ: ธนาเพรส, 2551.

วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เพราะ...ความเป็นครูอยู่ที่ใจ


เพราะ...ความเป็นครูอยู่ที่ใจ
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=Z6pzkndjPnU

     ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ 
การแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก 
ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาที่ดี 
เพราะการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่
ความสำเร็จของแต่ละบุคคลและประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศอีกด้วย บุคคลที่สามารถขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้นั่นก็คือ "ครู" พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่๙ ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนทุกคน และประชาชนที่อยู่ในชนบทอย่างมาก 
ดังที่ทรงได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาไว้ในวันที่๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ ความตอนหนึ่งว่า... "การให้การศึกษา คือ การให้คำแนะนำและส่งเสริมบุคคลให้มีความเจริญงอกงาม ในการเรียนรู้คิดอ่าน
และการทำตามอัตภาพของแต่ละคน โดยจุดประสงค์ในที่สุด
คือ ให้บุคคลน้ำเอาความสามารถที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ประโยชน์เกื้อกูลตน เกื้อกูลผู้อื่นอย่างสอดคล้องและไม่ขัดแย้งเบียดเบียนแก่งแย่งกัน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคมเป็นประเทศได้"
     พระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่๙ ขยายโอกาส"การศึกษา"เสมือน"เปลวเทียน"ส่องทางแห่งปัญญา...สว่างไสวไปทั่วแผ่นดินไทย การศึกษาไทย
จะขับเคลื่อนไปได้ด้วยดีจึงต้องอาศัย"ครู"ผู้เป็นเสาหลักในการพัฒนา ครู คือผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ครู คือ"พหูสูต"ซึ่งพร้อมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา และครู คือผู้ที่พร้อมจะเสียสละเพื่อศิษย์ของตน ผู้ที่จะเป็นครูได้นั้นต้องมีความรอบรู้ มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชาการวิชาชีพ  
มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรัก ความศรัทธาในวิชาชีพครู 
มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง "ครู"อาชีพเล็กๆที่ใครหลายคนมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญ อาจเนื่องมาจากสังคม
บางส่วนมองว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ทำงานหนัก เงินเดือนน้อย 
และหาความก้าวหน้าในชีวิตยาก ทัศนคติดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะสังคมอาจลืมคำนึงถึงว่าการที่จะประกอบอาชีพใดๆนั้นต้องเริ่มจากครูทั้งนั้น ดังสำนวนที่ว่า"ครูสร้างคน คนสร้างชาติ"
     ด้วยเหตุผลดังกล่าวฉันจึงมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู เกิดความรักความศรัทธาในวิชาชีพครู จุดประกายความฝันเริ่มขึ้นเมื่อตอน
ชั้นประถมศึกษา ฉันเป็นคนหนึ่งที่มีความผูกพันกับคุณครูตั้งแต่เรียนเตรียมอนุบาล ตั้งแต่เล็กจนโตฉันเป็นเด็กกิจกรรม ได้รับการอบรม 
สั่งสอน ฝึกฝน ขัดเกลา ในศาสตร์ด้านต่างๆหลายแขนง เช่น ภาษาไทย ศิลปะ คณิตศาสตร์ แต่เมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ฉันเริ่มค้นพบตัวตนที่แท้จริงเมื่อตอนเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วว่าฉันชอบวิชาภาษาไทย และความฝันโตขึ้นอยากจะเป็นครู
ภาษาไทยให้ได้เหมือนครูดีในดวงใจที่ฉันชื่นชอบ ฉันยังจดจำภาพในวันวานเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ครูจรรยา สุวรรณรัตน์"


    ครูภาษาไทยที่หลายๆคนกล่าวถึงและเป็นที่รู้จักกัน ฉันอีกคนหนึ่งที่ได้รู้จักครูท่านนี้ตั้งแต่เข้าม.๑ แต่ยังไม่เคยได้เรียนกับท่าน แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปจวบจนฉันอยู่ม.๕ ได้เรียนภาษาไทยกับครูจรรยา 
ในเวลาเช้าของทุกๆวันครูจรรยาจะขับรถมาทำงานด้วยแววตาและหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ทุกครั้งที่เจอลูกศิษย์ก็จะพูดคุยทักทายกันอย่างเป็นมิตร ทำให้ครูเป็นที่รักของศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ในห้องเล็กๆ
ที่เต็มไปด้วยนักเรียนทั้งชายหญิง ทุกครั้งที่ครูเข้ามาสอน ครูไม่ได้สอนแค่เพียงความรู้ภาษาไทยในบทเรียนเท่านั้น ทั้งยังสอดแทรก
บทเรียนชีวิตอีกด้วย ทุกคำสอนของครูเปรียบเสมือนจุดประกาย
ความฝันของนักเรียน ด้วยความรัก ความเมตตาที่ครูมอบให้
เพื่อให้ศิษย์ได้เป็นคนดีของสังคม ดังคำกล่าวที่ว่า"ตำราที่ออกจากแป้นพิมพ์ย่อมเขียนเหมือนกันทุกเล่ม แต่ตำราที่ออกจากหัวใจ 
ไม่มีเล่มใดที่เหมือนกัน เพราะครู คือผู้ให้อย่างแท้จริง"


     นาฬิกาไม่เคยหยุดหมุน กาลเวลาผ่านมาจนถึงฉันอยู่ม.๖ 
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด เครียดที่สุด และเปราะปางที่สุดในเวลาเดียวกันในการสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ครูจรรยา คือบุคคล
ท่านหนึ่งที่คอยให้คำปรึกษา ให้กำลังใจกับฉันเสมอมา ฉันสัมผัสได้ถึงความรัก ความห่วงใยและความหวังดีที่ครูมอบให้ มีอยู่ครั้งหนึ่งความใฝ่ฝันที่ฉันเคยตั้งใจอยากจะเป็นครูภาษาไทย ความมั่นใจ
ในจุดหมายปลายทาง แต่ตอนนั้นมันกำลังจะเจอทางแยก 
ความมั่นใจในอนาคตของตัวเองหดหาย ถูกแทนที่ด้วยความกลัว ความสับสนที่ผสมกับความผิดหวังเล็กๆกำลังทำร้ายเราอยู่ แต่แล้ว
คำพูดที่จุดประกายให้ฉันคิดได้"ลำบากก่อนแล้วสบายทีหลัง 
คนที่ไม่ผ่านร้อนก็เป็นเพียงแค่ถ่าน แต่ถ้าผ่านก็จะกลายเป็นเพชร 
จงพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง หนึ่งสมอง สองมือ เพื่อนทำได้ เราย่อมทำได้เช่นเดียวกัน เลือดน้ำเงินขาวจะต้องพราวอยู่ในสังคม "ครูจะรอแสดงความยินดีที่โสภิญาสอบติดครูภาษาไทยตามที่หนูหวังนะ 
และแล้ววันนั้นก็มาถึงวันที่ฉันสอบติดครูภาษาไทยได้ตามที่หวัง 
เมื่อท่านทราบข่าวท่านยินดีและดีใจกับฉันเป็นอย่างยิ่ง ครูบอกกับฉันว่า จงตั้งใจทำในสิ่งที่ตัวเองรักให้ประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเริ่มต้น ไม่มีปลายทางไหนจะถูกพิชิตได้ 
ถ้ายังไม่เริ่มก้าวแรกของการเดินทาง


     ศิษย์ระลึกถึงครู และครูคิดถึงศิษย์ ทุกคำสอนของครูยังก้องอยู่ในใจของฉันเสมอมา ครูทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจแม้จะต้องเหนื่อย
มากสักเพียงใด แต่คนเป็นครูไม่เคยท้อถอย ถึงแม้ว่าตอนนี้ครูเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ความเป็นเป็นครูไม่มีวันที่จะเกษียณ 
ครูจรรยา เป็นบุคคลต้นแบบครูภาษาไทยที่ดีให้แก่ศิษย์และฉัน
อีกด้วย จะขอสัญญาว่าเมื่อตนเรียนจบจะเป็นครูที่ดี เหมือนที่ท่าน
ได้ทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ที่ดีและสมบูรณ์แบบให้กับศิษย์คนนี้เสมอมา




เราได้ดี...เพราะคุณครู
อยากขอบคุณที่สั่งสอนมา ที่ทำให้เราได้พบกับ
ความฝันที่อยากเป็นจากใจ... จะไม่มีวันลืม

ที่มา : โสภิญา โอทอง (ผู้เขียนบทความ)